เทคฮอร์โมนอย่างไรให้ปลอดภัย รวมข้อควรรู้และผลข้างเคียง

เทคฮอร์โมนอย่างไรให้ปลอดภัย รวมข้อควรรู้และผลข้างเคียง

28 มิถุนายน 2023

Share on

การเทคฮอร์โมนในกลุ่มคนข้ามเพศหรือ (Transgender) คือการรับประทานหรือนำฮอร์โมนเพศที่ต้องการเข้าร่างกาย เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสรีระตามเพศที่บุคคลนั้นต้องการ 

แม้ว่าการเทคฮอร์โมนนั้นจะแตกต่างจากการรับประทานยาเพราะไม่ได้มีผลต่อการรักษาโรคชนิดใด แต่ก่อนจะทำการเทคฮอร์โมนนั้นเราควรศึกษาข้อมูลและเตรียมพร้อมทั้งด้านร่างกายและจิตใจก่อนการตัดสินใจ

เราจะมาพูดคุยในเรื่องการเทคฮอร์โมนอย่างไรให้ปลอดภัยไม่ทำลายสุขภาพ

เทคฮอร์โมนคืออะไร?

เมื่อพูดถึงการเปลี่ยนลักษณะทางกายภาพหรือการแปลงเพศของกลุ่มคนข้ามเพศ (Transgender) วิธีที่หลายคนนึกถึงมักได้แก่ การผ่าตัดแปลงเพศ และการบำบัดด้วยฮอร์โมนเพื่อการข้ามเพศ (Gender-affirming hormone therapy) หรือที่นิยมเรียกกันสั้น ๆ ว่า “เทคฮอร์โมน” เพราะการเทคฮอร์โมนเป็นหนึ่งวิธีการแปลงเพศนอกเหนือจากการผ่าตัด ไม่ต้องเจ็บตัว

เนื่องจากเป็นการใช้ฮอร์โมนบำบัดเพื่อการข้ามเพศ ซึ่งสรีระจะปรับเปลี่ยนไปตามฮอร์โมนเพศที่ใช้หลังจากเทคฮอร์โมนเพศอย่างถูกวิธีต่อเนื่องอย่างน้อย 3 เดือนขึ้นไป โดยก่อนจะเทคฮอร์โมนได้นั้นจะต้องมีขั้นตอนดังต่อไปนี้

  • มีภาวะ“Gender dysphoria (GD)” หรือเป็นผู้ที่ไม่มีความสุขกับสรีระทางเพศแต่กำเนิดอย่างรุนแรง ต้องการมีลักษณะทางกายภาพเป็นเพศตรงข้ามอย่างแท้จริง ซึ่งต้องรับการประเมินสภาพจิตใจจากจิตแพทย์อย่างน้อยสองท่าน
  •  มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง จะต้องมีการซักประวัติภาวะเสี่ยงต่าง ๆ ได้แก่ โรคหัวใจ โรคอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง สูบบุหรี่ ประวัติโรคมะเร็งเต้านมในครอบครัว ประวัติการใช้ยาลดความดัน ยาลดระดับน้ำตาลในเลือด ยาสลายลิ่มเลือด เป็นต้น
  • อายุ 20 ปีบริบูรณ์ หรือหากมีอายุ 18 ปีขึ้นไป แต่ยังไม่ถึง 20 ปี ต้องมีหนังสือรับรองจากผู้ปกครองเป็นลายลักษณ์อักษร
  •  ไม่มีภาวะทางจิตที่บกพร่อง
  •  ไม่มีประวัติแพ้ยา
  •  ไม่มีการตั้งครรภ์

การเทคฮอร์โมนมีกี่รูปแบบ?

  • เทคฮอร์โมนแบบฉีด มีสองแบบคือ
    • ยาฉีดที่ออกฤทธิ์ระยะสั้น จะต้องมาฉีดตามกำหนดทุก 2-4 สัปดาห์ 
    • ยาฉีดที่ออกฤทธิ์ระยะยาว จะต้องฉีดทุก 3 เดือน ซึ่งยาฉีดที่ออกฤทธิ์ระยะยาวนี้จะปรับลดระดับฮอร์โมนไม่ดีเท่ายาฉีดที่ออกฤทธิ์ระยะสั้น ข้อดีคือออกฤทธิ์เร็ว สามารถปรับลดระดับการรับฮอร์โมนได้ตามต้องการ
  • เทคฮอร์โมนแบบรับประทาน หาซื้อได้สะดวก สามารถรับประทานได้เอง ไม่เจ็บตัว ไม่จำเป็นต้องมาโรงพยาบาล แต่ราคาไม่ต่างจากการฉีดมากนักเพราะต้องรับประทานอย่างต่อเนื่องทุกวันไม่เช่นนั้นระดับฮอร์โมนจะตกลง
  • เทคฮอร์โมนแบบทา ต้องทาตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายทุกวัน โดยเฉพาะบริเวณที่ไม่มีขนปกคลุมเพื่อให้ฮอร์โมนแทรกซึมลงสู่ผิวหนัง หลังทาเจลฮอร์โมนยังต้องรอให้เจลแห้งก่อนสวมใส่เสื้อผ้า ออกฤทธิ์ระยะสั้นมากเพียง 24 ชั่วโมงเท่านั้น
  • เทคฮอร์โมนแบบพลาสเตอร์ ต้องปิดพลาสเตอร์ตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายทุกวัน โดยเฉพาะบริเวณที่ไม่มีขนปกคลุมเพื่อให้ฮอร์โมนแทรกซึมลงสู่ผิวหนังเช่นเดียวกับแบบทา เช่น ท้อง หัวไหล่ ท้องแขนด้านใน ด้านในต้นขา แต่ฮอร์โมนชนิดนี้ยังไม่มีวางจำหน่ายในประเทศไทย

การเทคฮอร์โมนในเพศหญิงและเพศชายต่างกันอย่างไร? 

การเทคฮอร์โมนกรณีแปลงเพศหญิงเป็นชาย (Masculinizing hormone therapy)

ใช้ฮอร์โมนแอนโดรเจน (Androgen) หรือ เทสโทสเตอโรน (Testosterrone) เพื่อเปลี่ยนแปลงสรีระของหญิงให้เป็นชายนั้น 

ปัจจุบันมีหลายรูปแบบ ได้แก่ แบบทา แบบรับประทาน แบบฉีด และแบบพลาสเตอร์  เพื่อกระตุ้น หรือเสริมฤทธิ์ฮอร์โมนเพศชาย 

อิทธิพลของฮอร์โมนเพศชายจะกระตุ้นให้มีการเปลี่ยนแปลงทางสรีระคล้ายเพศชายมากขึ้น เช่น มีหนวดเครา มีกล้ามเนื้อ เสียงใหญ่ขึ้น 

นอกจากนี้ยังลดทอน หรือกำจัดฮอร์โมนเพศที่มีอยู่เดิม ฮอร์โมนเพศชายจะลดประสิทธิภาพการทำงานของรังไข่ซึ่งเป็นแหล่งผลิตฮอร์โมนเพศหญิง ทำให้รังไข่ผลิตไข่น้อยลง ประจำเดือนจะเริ่มขาดและค่อย ๆ หายไป

การเทคฮอร์โมนกรณีแปลงเพศชายเป็นหญิง (Feminizing hormone therapy)

แพทย์จะให้ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) เช่น 17-beta estradiol หรือ Estradiol valerate เพื่อเพิ่มระดับฮอร์โมนเพศหญิงให้สูงขึ้น ร่วมกับให้ยาฮอร์โมนต้านฤทธิ์แอนโดรเจน (Anti-androgen) เช่น Cyproterone acetate, Spironolactone หรือ Finasteride เพื่อลดระดับฮอร์โมนเพศชายลง และขจัดลักษณะที่บ่งบอกถึงเพศกำเนิดออก เช่น ขน หนวดเครา ทำให้ร่างกายเติบโตไปในลักษณะของผู้หญิง

ต้องเทคฮอร์โมนกี่เดือนจึงจะเห็นผล?

หลังจากที่เทคฮอร์โมนเพศหญิงหรือชายตามปริมาณที่แพทย์แนะนำอย่างต่อเนื่อง จะเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ โดยจะเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงหลังเทคฮอร์โมน 3-6 เดือน และเห็นผลเต็มที่หลังจากที่เทคฮอร์โมนไปแล้ว 2-3 ปี

ผลข้างเคียงจากการเทคฮอร์โมน

การเทคฮอร์โมนอย่างปลอดภัยจะต้องใช้ฮอร์โมนในขนาดที่เหมาะสม เพราะยาฮอร์โมนที่ใช้นั้นถูกสังเคราะห์ให้มีความคล้ายคลึงกับฮอร์โมนในร่างกาย ซึ่งยาทุกชนิดนั้นอาจมีผลข้างเคียง 

ในการเทคฮอร์โมนจึงอาจมีผลข้างเคียงเช่นกัน เช่น ผมบางลง น้ำหนักขึ้น ปวดศีรษะ อารมณ์แปรปรวน และบางรายอาจมีผลข้างเคียงในระดับที่รุนแรงได้

ผลข้างเคียงที่รุนแรงจากยาฮอร์โมนเอสโตรเจน มีดังนี้

  1. การเกิดลิ่มเลือด
  2. โรคหลอดเลือดดำอุดตัน (Deep vein thrombosis)
  3. โรคหลอดเลือดในสมอง (Stroke)
  4. โรคลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด (Pulmonary embolism)
  5. กระทบการทำงานของตับ

ผลข้างเคียงที่รุนแรงจากยาฮอร์โมนเทสโทสเทอโรน คือโรคเลือดข้น (Polycythemia)

เพศของเรา เราเลือกเอง อยากเทคฮอร์โมนให้ปลอดภัย ปรึกษา Talk to PEACH ได้!

Talk to PEACH Promo

เพศของเรา เราทุกคนมีสิทธิที่จะเลือกด้วยความสมัครใจของเราเอง ดังนั้น การเทคฮอร์โมนจึงเป็นทางเลือกหนึ่ง เพื่อการเปลี่ยนแปลงสู่เพศที่ต้องการของใครหลาย ๆ คน 

หากมีข้อสอบถามเกี่ยวกับการเทคฮอร์โมนเพื่อข้ามเพศอย่างปลอดภัย เราพร้อมพูดคุยและเป็นที่ปรึกษา ด้วยการปรึกษาเรื่องสุขภาพเพศกับนักเพศวิทยา ผู้เชี่ยวชาญด้านเพศจาก Talk to PEACH โดยเราพร้อมเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้คุณปรึกษาทุกแง่มุมของเรื่องเพศได้แบบไม่ต้องเปิดเผยตัวตน 

สามารถพูดคุยได้ทั้งผ่านวิดีโอคอล และแชทถาม-ตอบผ่านแอป Talk to PEACH หรือ หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องเพศ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Talk To PEACH: http://bit.ly/417az7i   

อ้างอิง:

ปัญหา LGBTQ+

สุขภาพเพศทางกาย