03 มกราคม 2024
เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินชื่อของโรคซิฟิลิส จากการที่มีการระบาดเพิ่มมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยโรคซิฟิลิสเป็นหนึ่งในโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่มีผู้ติดเชื้อเกิดขึ้นอยู่อย่างต่อเนื่อง และมักถูกเข้าใจผิดไปว่าเป็นโรคที่รักษาไม่หาย แต่แท้จริงแล้ว หากได้รับการตรวจหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เป็นประจำ และเข้ารับการรักษาอย่างถูกต้องตั้งแต่ระยะแรก ๆ โรคซิฟิลิสสามารถรักษาให้หายขาดได้
ในบทความนี้จะพาไปเช็กอาการของโรคซิฟิลิส สาเหตุ พร้อมบอกวิธีป้องกัน และรักษา
โรคซิฟิลิส (Syphilis) คือ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เกิดจากแบคทีเรียที่ชื่อว่า ทรีโพนีมา แพลลิดัม (Treponema Pallidum) มักเกิดเป็นบาดแผลที่บริเวณปาก ช่องคลอด หรือทวารหนัก โดยอาจเกิดเป็นแผลริมแข็ง หรือแผลที่ไม่รู้สึกเจ็บ ที่ซ่อนตัวอยู่ตามบริเวณต่าง ๆ ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้หลายคนไม่ทราบว่าตัวเองได้รับเชื้อมาแล้ว โดยตัวเชื้อเองสามารถซ่อนอยู่ในร่างกายได้หลายปีก่อนจะแสดงอาการ
แต่หากรับเชื้อซิฟิลิสมาแล้ว และเข้ารับการรักษาอย่างถูกต้อง พร้อมเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยง ก็สามารถรักษาให้หายขาดได้ ดังนั้น จึงแนะนำให้ตรวจหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เป็นประจำ
แต่หากไม่ได้เข้ารับการรักษา อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อและส่งผลต่อระบบต่าง ๆ ของร่างกาย จนนำไปสู่การเสียชีวิตได้
เป็นความจริงที่ว่าโรคซิฟิลิส สามารถติดต่อได้แม้จะไม่ได้มีเพศสัมพันธ์ แต่ยังมีความเข้าใจผิดอีกมากมายที่ต้องได้รับการแก้ไข
โดยการใช้สิ่งของต่าง ๆ หรือใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ ร่วมกันกับผู้ติดเชื้อ ใส่เสื้อผ้าร่วมกัน รับประทานอาหารจากภาชนะเดียวกัน รวมถึงการใช้ห้องน้ำ อ่างอาบน้ำ หรือสระว่ายน้ำร่วมกัน ทั้งหมดนี้ไม่ได้ทำให้ติดโรคซิฟิลิสแต่อย่างใด
อาการเริ่มต้นจะมีบาดแผลเล็ก ๆ ที่เรียกว่า แผลริมแข็ง ขึ้นบริเวณหัวหรือลำขององคชาต บริเวณในช่องคลอด หรือทวารหนัก หากไม่สังเกตก็อาจยังไม่ทราบว่ามีการติดเชื้อของโรคซิฟิลิสแล้ว เพราะแผลลักษณะนี้มักจะไม่มีอาการเจ็บปวดใด ๆ และตัวแผลสามารถหายได้เอง แม้จะไม่ได้ทำการรักษาใด ๆ เลยก็ตาม แต่ตัวเชื้อจะยังคงอยู่ในร่างกาย และทำให้ผู้ที่ติดเชื้ออาจจะชะล่าใจจนนำไปสู่การติดเชื้อระยะที่สอง
ผู้ติดเชื้ออาจมีผื่นชนิดไม่คันขึ้น บริเวณลำตัว ฝ่ามือ ฝ่าเท้า อวัยวะเพศ พร้อมกับอาการไข้ ปวดกล้ามเนื้อ
โดยอาการต่าง ๆ เหล่านี้เป็นสัญญาณของการที่เชื้อแพร่กระจายเข้าสู่ต่อมน้ำเหลืองและอวัยวะต่าง ๆ จากนั้นอาการจะค่อย ๆ หายไปเอง หรืออาจจะเป็น ๆ หาย ๆ แม้จะไม่ได้ทำการรักษาใด ๆ เลยก็ตาม โดยเชื้อจะยังคงอยู่ในร่างกาย รอพัฒนาเป็นระยะถัดไป
เมื่อไม่ได้รับการรักษาใด ๆ และผ่านพ้นสองระยะแรกมาแล้ว โรคซิฟิลิสจะพัฒนาเข้าสู่ระยะที่สาม คือ ระยะแฝง โดยในระยะนี้เชื้อจะยังคงอยู่ในร่างกาย แต่ไม่ได้แสดงอาการใด ๆ สามารถแพร่เชื้อได้ และรอพัฒนาเข้าสู่ระยะสุดท้าย
สำหรับระยะสุดท้ายนี้เป็นระยะที่เชื้อซิฟิลิสเริ่มเข้าทำลายระบบและอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย โดยจะทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนและความผิดปกติอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาทและสมอง หัวใจ หลอดเลือด หรือมีการเคลื่อนไหวผิดปกติ ซึ่งเมื่อเกิดการแทรกซ้อนเหล่านี้อาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้ในที่สุด
เมื่อเข้าพบแพทย์แล้ว แพทย์จะพิจารณารักษาด้วยการวินิจฉัยก่อนว่าโรคซิฟิลิสอยู่ในระยะใด และใช้การฉีดยาปฏิชีวนเพนิซิลลิน (Penicillin) เพื่อฆ่าเชื้อและยับยั้งการติดเชื้อเพิ่ม ในขั้นตอนนี้แพทย์อาจแนะนำให้พาคู่นอนมาตรวจหาเชื้อและรักษาร่วมด้วย โดยโรคซิฟิลิสสามารถหายขาดได้จากการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ
ระหว่างการเข้ารับการรักษาแพทย์อาจแนะนำให้งดมีเพศสัมพันธ์ไปก่อนจนกว่าผลการตรวจเลือดจะไม่พบเชื้อแล้ว
แพทย์จะนัดตรวจเลือดหลังรับการรักษา ในช่วงระยะเวลา 3-6 เดือนให้หลัง และนัดตรวจเลือดเป็นประจำทุกปี เพื่อเฝ้าระวังอาการ
หากมีปัญหาสุขภาพเพศ สามารถพูดคุยได้ทั้งผ่านวิดีโอคอล และแชทถาม-ตอบผ่านแอป Talk to PEACH หรือ หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องเพศ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Talk To PEACH: https://oci.ltd/NCfgdOa
อ้างอิง:
สุขภาพเพศทางกาย
โรคติดต่อ