ตรวจภายในเจ็บไหม เตรียมตัวยังไง ไขข้อข้องใจตรวจภายในครั้งแรก

ตรวจภายในเจ็บไหม เตรียมตัวยังไง ไขข้อข้องใจตรวจภายในครั้งแรก

16 กันยายน 2024

Share on
ตรวจภายในเจ็บไหม เตรียมตัวยังไง ไขข้อข้องใจตรวจภายในครั้งแรก1

การตรวจภายใน (Pelvic Exam) เป็นหัตถการทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาวะทางเพศของผู้มีเพศกำเนิดหญิงโดยตรง แต่หลาย ๆ คนอาจจะกังวลและมีคำถามว่าตรวจภายในเจ็บไหม น่าอายหรือเปล่า หรือ ไม่เคยเพศสัมพันธ์ ตรวจภายในได้ไหม จะเจ็บมากไหม? เหตุผลเหล่านี้อาจทำให้ใครหลายคนกลัวและไม่กล้าไปตรวจภายใน 

.

บทความนี้ Talk to PEACH เลย ชวนมาไขข้อข้องใจเกี่ยวกับการตรวจภายใน ว่าต้องตรวจอะไรบ้าง ตรวจยังไง เจ็บหรือไม่ น่ากลัวหรือเปล่า แล้วต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง มาหาคำตอบไปพร้อม ๆ กัน

ตรวจภายในคืออะไร

ตรวจภายในเจ็บไหม เตรียมตัวยังไง ไขข้อข้องใจตรวจภายในครั้งแรก2

การตรวจภายใน คือ การตรวจสุขภาพทางเพศของผู้หญิง เพราะอวัยวะสืบพันธุ์ของเพศหญิงนั้นอยู่ภายในร่างกาย ไม่สามารถมองเห็นได้จากภายนอก หากเกิดความผิดปกติอะไรขึ้นมาก็จะไม่สามารถทราบได้เลย การตรวจภายในจึงเป็นวิธีการป้องกันความเสี่ยงและช่วยคัดกรองความผิดปกติเกี่ยวกับโรคทางระบบสืบพันธุ์หรือโรคทางนรีเวชได้

ตรวจภายในสำคัญแค่ไหน ทำไมต้องตรวจ

การตรวจภายในเป็นวิธีการวินิจฉัยและคัดกรองโรคทางนรีเวช หรือ โรคเกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์ของผู้หญิง อย่าง อาการผิดปกติบางอย่าง เช่น ปวดท้องประจำเดือนรุนแรง ประจำเดือนช้า มาไม่สม่ำเสมอ ปวดบริเวณท้องน้อย ปวดหน่วงบริเวณอุ้งเชิงกราน ไปจนถึงมีอาการตกขาว และความผิดปกติอื่น ๆ หากเกิดอาการความผิดปกติเหล่านี้ขึ้นสูตินรีแพทย์จะทำการตรวจภายในเพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุของโรคนำไปสู่การวางแผนการรักษาต่อไป

.

นอกจากนี้ การตรวจภายในยังช่วยป้องกันความเสี่ยงของโรคที่อาจลุกลาม เพราะโรคทางนรีเวช หรือ โรคเกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์ของเพศหญิงนั้นบางโรคเป็นภัยเงียบที่ไม่มีอาการแสดงบ่งชี้ให้เห็นรอยโรคอย่างโรคถุงน้ำในรังไข่ มะเร็งปากมดลูก มะเร็งรังไข่ เป็นต้น  มารู้ตัวอีกทีก็ตอนที่อาการของโรคลุกลามไปแล้ว 

ดังนั้น การตรวจภายในจะช่วยให้เราทราบว่าอวัยวะในระบบสืบพันธุ์นั้นปกติหรือไม่ปกติอย่างไร หากเกิดความผิดปกติอะไรขึ้นจะได้รักษาอย่างทันท่วงทีและป้องกันการแพร่กระจายของโรคได้

ตรวจภายใน ตรวจอะไรบ้าง

แล้วการตรวจภายในนั้นตรวจอะไรบ้าง? การตรวจภายในจะเป็นการตรวจที่ครอบคลุมอวัยวะสืบพันธุ์ ทั้งภายนอกและภายใน รวมไปถึงอวัยวะในอุ้งเชิงกรานทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นช่องคลอด ท่อปัสสาวะ กระเพาะปัสสาวะ ปากมดลูก มดลูก รังไข่ ท่อนำไข่ ไปจนถึงทวารหนัก เรียกได้ว่าตรวจอย่างครอบคลุมในทุกจุด เพื่อหารอยโรคและความผิดปกติต่าง ๆ โดยละเอียด

ตรวจภายใน ตรวจยังไง

วิธีการตรวจภายใน ตรวจยังไง และตรวจแบบไหนนั้นหลัก ๆ เลยสูตินรีแพทย์จะตรวจในสองรูปแบบ

ตรวจภายนอกด้วยสายตา

แพทย์จะตรวจภายนอกด้วยสายตาเพื่อดูว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นกับอวัยวะเพศภายนอกหรือไม่ เช่น รอยบวมแดง ผดผื่น หรือ อาการอักเสบระคายเคืองอื่นใดที่ปรากฏ

ตรวจภายในช่องคลอด

หลังจากที่ตรวจดูความผิดปกติภายนอกด้วยสายตาแล้ว ต่อไปแพทย์จะตรวจหาความผิดปกติภายในช่องคลอด เริ่มจากตรวจด้วยมือโดยแพทย์จะสอดนิ้วมือเข้าไปตรวจภายในช่องคลอด และอาจจะใช้อีกมือหนึ่งคลำสัมผัสบริเวณท้องน้อยไปด้วย เพื่อตรวจขนาดของมดลูกและรังไข่

ตรวจภายในเจ็บไหม เตรียมตัวยังไง ไขข้อข้องใจตรวจภายในครั้งแรก4

นอกจากนั้น แพทย์อาจจะใช้เครื่องมือพิเศษที่เรียกว่าสเปกคูลัม (speculum) หรือคีมปากเป็ดสอดเข้าไปเพื่อเปิดขยายช่องคลอดเพื่อตรวจดูปากมดลูกและมดลูก

.

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้เป็นการตรวจหาความผิดปกติด้วยสายตา แน่นอนว่าบางทีอาจจะไม่เห็นรอยโรค ในการตรวจภายในทุกครั้งจึงมีการเก็บตัวอย่างเซลล์จากปากมดลูกและมดลูกไปตรวจหาความผิดปกติที่ห้องปฏิบัติการ หรือ ที่เรียกกันว่าการตรวจแปปเสมียร์ (pap smear) เพื่อคัดกรองมะเร็งปากมดลูกและเชื้อไวรัส HPV โดยจะใช้เวลาประมาณ 2-3 วัน หรือไม่เกินหนึ่งสัปดาห์ในการทราบผลตรวจ

ต้องตรวจภายในบ่อยแค่ไหน

ผู้มีเพศกำเนิดหญิงทุกคนควรจะเข้ารับการตรวจภายในร่วมกับการตรวจสุขภาพประจำปีอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และควรตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกหรือตรวจแปปเสมียร์ทุก 2-3 ปี

ตรวจภายในเจ็บไหม

ตรวจภายในเจ็บไหม เตรียมตัวยังไง ไขข้อข้องใจตรวจภายในครั้งแรก5

เรื่องที่ผู้หญิงหลาย ๆ คนมักกลัวเกี่ยวกับการตรวจภายในเพราะกังวลว่าตรวจภายในเจ็บไหม จริง ๆ แล้วการตรวจภายในไม่ได้เจ็บเลย แต่ว่าจะเกิดความรู้สึกอึดอัดไม่สบายตัวในระหว่างตรวจเล็กน้อย โดยแพทย์จะในการตรวจประมาณ 15-30 นาที แนะนำว่าให้ทำใจให้สบายและผ่อนคลายร่างกายให้มากที่สุดระหว่างตรวจ จะช่วยลดการหดเกร็งของกล้ามเนื้อในระหว่างตรวจภายในได้

ไม่เคยเพศสัมพันธ์ ตรวจภายในเจ็บไหม

เครื่องมือที่ใช้ตรวจภายในนั้นแพทย์จะเลือกขนาดที่เหมาะสมกับสรีระร่างกายของคนไข้แต่ละรายไป ไม่ว่าจะเคยผ่านการมีเพศสัมพันธ์มาก่อนหรือไม่เคยก็ตามสามารถตรวจได้ ซึ่งถ้าไม่เคยมีเพศสัมพันธ์มาก่อน แพทย์จะเลือกใช้เครื่องมือที่ขนาดเล็กที่สุด ดังนั้น คนที่ไม่เคยผ่านการมีเพศสัมพันธ์แล้วกังวลว่าตรวจภายในเจ็บไหมให้สบายใจตรงนี้ได้เลย

ช่องคลอดแห้ง ตรวจภายในเจ็บไหม

ในการตรวจภายในทุกครั้งแพทย์จะใช้เจลหล่อลื่นร่วมด้วยเสมอ ดังนั้น คนที่มีปัญหาช่องคลอดแห้งและขาดน้ำหล่อลื่นตามธรรมชาติไม่ต้องกังวลว่า เวลาตรวจภายในเจ็บไหม เพราะมีเจลหล่อลื่นช่วยในระหว่างการตรวจ สามารถตรวจได้ตามปกติ

ปรึกษาไม่ระบุตัวตนผ่าน Talk to PEACH

ตรวจภายใน อายุเท่าไหร่

ตามคำแนะนำของแพทย์ เพศหญิงที่อายุ 30 ปีขึ้นไปควรได้รับการตรวจภายในอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ไม่ต้องรอให้มีอาการหรือเกิดความผิดปกติขึ้นก่อนแล้วค่อยตรวจ

.

สามารถตรวจร่วมกับการตรวจสุขภาพประจำปีได้เลย ส่วนในกรณีของผู้ที่เคยผ่านการมีเพศสัมพันธ์มาแล้วก็สามารถเข้ารับการตรวจภายในได้เลยไม่ต้องรอให้ถึงอายุ 30 ปี

ตรวจภายใน ราคาเท่าไหร่

ราคาการตรวจภายในจะอยู่ที่ประมาณ 1,000-5,000 บาท ขึ้นอยู่ว่ามีการตรวจพิเศษทางห้องปฏิบัติการเพิ่มหรือไม่ ทั้งนี้ ยังขึ้นอยู่กับค่าบริการของแต่ละโรงพยาบาลและคลินิกต่าง ๆ อีกด้วย

วิธีเตรียมตัวก่อนตรวจภายใน

  • ไม่ควรตรวจภายในในช่วงที่มีประจำเดือน ควรตรวจภายในหลังจากประจำเดือนหยุดสนิทเพื่อลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อ
  • ควรปัสสาวะและอุจจาระให้เรียบร้อยก่อนรับการตรวจภายใน
  • ไม่จำเป็นต้องงดอาหารและน้ำดื่มก่อนตรวจภายใน
  • ไม่จำเป็นต้องโกนขนที่อวัยวะเพศ
  • ทำจิตใจให้ผ่อนคลาย ตัดความกังวล เพื่อไม่ให้กล้ามเนื้อหดเกร็งระหว่างการตรวจ

ข้อห้ามก่อนตรวจภายใน

  • งดเว้นการมีเพศสัมพันธ์ 1-2 วันก่อนตรวจภายใน
  • งดสวนล้างช่องคลอดก่อนตรวจภายในอย่างน้อย 48 ชั่วโมง
  • งดใช้ยาเหน็บช่องคลอดอย่างน้อย 2 วันก่อนตรวจภายใน

กังวลว่าตรวจภายในเจ็บไหม ปรึกษา Talk to PEACH ก่อนได้

ปรึกษาเรื่องเพศแบบไม่ระบุตัวตน ได้ที่แอปฯ Talk to PEACH
ดาวน์โหลดแอป Talk to PEACH เพื่อปรึกษา

การตรวจภายในเป็นการคัดกรองความเสี่ยงของโรคทางนรีเวช ไม่จำเป็นต้องรอให้เกิดโรคหรือความผิดปกติขึ้นก่อน สามารถเข้ารับการตรวจได้เนิ่น ๆ เพื่อป้องกันความเสี่ยงการเกิดโรค ส่วนคนที่มีสัญญาณเตือนถึงความผิดปกติยิ่งควรรีบตรวจภายในเพื่อตรวจเช็กที่มาของความผิดปกติในระบบสืบพันธ์ุ จะได้ลดความเสี่ยงของการลุกลามของโรคและหาทางรักษาที่ถูกต้องได้อย่างทันท่วงที

.

สามารถปรึกษาเรื่องทางเพศ รวมถึงโรคที่เกี่ยวกับเพศได้อย่างสบายใจในทุก ๆ แง่มุม ไม่ต้องเปิดเผยชื่อ ไม่ต้องเปิดเผยตัวตน สามารถรับคำปรึกษาได้ทันที หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องเพศ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Talk to PEACH: https://oci.ltd/VteMHjR

อ้างอิง:

ปัญหาเพศหญิง