ปวดท้องน้อยในผู้หญิง อย่าปล่อยไว้! เช็กอาการปวดท้องน้อยที่ต้องระวัง

ปวดท้องน้อยในผู้หญิง อย่าปล่อยไว้! เช็กอาการปวดท้องน้อยที่ต้องระวัง

12 มกราคม 2024

Share on
ปวดท้องน้อยในผู้หญิง อย่าปล่อยไว้! เช็กอาการปวดท้องน้อยที่ต้องระวัง1

อาการปวดท้องน้อย (Pelvic Pain) เป็นปัญหาสุขภาพที่พบเป็นอันดับต้น ๆ ในผู้มีเพศกำเนิดหญิงทั่วโลก ซึ่งในแต่ละคนก็จะมีลักษณะและอาการที่แสดงออกแตกต่างกันออกไป เช่น ปวดแบบมวนท้อง ปวดปากมดลูก ปวดแบบบีบ ๆ ปวดทรมาน ปวดตื้น ๆ ปวดลึก ๆ กดท้องแล้วเจ็บ ปวดเจ็บ ๆ เหมือนมีเข็มมาตำ ปวดร้าวลงขา ปวดจนหมดแรง หรือ ปวดจนทนไม่ไหวลุกไม่ขึ้น

สาเหตุของการปวดท้องน้อย

ปวดท้องน้อยในผู้หญิง อย่าปล่อยไว้! เช็กอาการปวดท้องน้อยที่ต้องระวัง2

มักเกิดจากความผิดปกติของอวัยวะในระบบทางเดินอาหาร กระเพาะอาหาร ระบบลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ ไส้ติ่ง ระบบกล้ามเนื้อหน้าท้อง ระบบปัสสาวะ ไต ท่อไต กระเพาะปัสสาวะ หรือ ระบบสืบพันธุ์ รังไข่ ผนังมดลูก ปีกมดลูก ที่มีความเกี่ยวข้องการมีประจำเดือน ซึ่งจำเป็นจะต้องได้รับคำวินิจฉัยจากแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญก่อน จึงจะระบุได้ว่าสาเหตุที่แท้จริงเกิดจากส่วนใด

ในหลาย ๆ ครั้งอาการปวดท้องน้อยก็สามารถนำไปสู่โรคภัยต่าง ๆ เช่น

  • ไส้ติ่งอักเสบ ไส้ติ่งแตก
  • นิ่วในท่อไต กระเพาะปัสสาวะอักเสบ
  • เนื้องอก
  • ลำไส้แปรปรวน มะเร็งลำไส้ใหญ่
  • มดลูกอักเสบเฉียบพลัน ติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน เส้นเลือดโป่งพองในอุ้งเชิงกราน
  • เลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด ภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบ ถุงน้ำรังไข่แตก
  • เกิดพังผืดในช่องท้อง โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ช็อกโกแลตซีสต์
  • การตั้งครรภ์นอกมดลูก พบเฉพาะผู้ที่เคยมีเพศสัมพันธ์แล้วเท่านั้น
  • โรคมะเร็งปากมดลูก

ชวนเช็กอาการปวดท้องน้อยที่ต้องระวัง

ปวดท้องน้อยในผู้หญิง อย่าปล่อยไว้! เช็กอาการปวดท้องน้อยที่ต้องระวัง3

อาการปวดท้องน้อยได้เป็น 3 ประเภท ดังนี้

  1. ปวดท้องน้อยเฉียบพลัน (Acute Pelvic Pain)

มักมีอาการอยู่ ๆ ก็รู้สึกปวดท้องน้อยขึ้นมาทันทีโดยไม่ทราบสาเหตุ ไม่เคยมีความรู้สึกปวดท้องน้อยแบบนี้มาก่อนเลย หรือ คล้ายกับอาการมีประจำเดือนแต่ปวดมากกว่า มักมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน หรือเป็นลมร่วมด้วย ซึ่งอาจเกิดจากการที่เลือดไม่สามารถไปเลี้ยงอวัยวะภายในช่องท้องที่เป็นสาเหตุหลัก หรือ อวัยวะดังกล่าวได้รับความเสียหายภายใน

  1. ปวดท้องน้อยเป็นซ้ำ (Recurrent Pelvic Pain)

มักมีอาการปวดท้องน้อยสั้น ๆ 1-2 วันในช่วงมีประจำเดือน ก่อนหรือหลังมีประจำเดือน ปวดต่อเนื่องนานเป็นสัปดาห์ แต่เมื่อรับประทานยาแก้ปวดก็ดีขึ้น

กรณีควรเฝ้าระวัง เช่น ปวดท้องน้อยมากกว่าปกติในรอบเดือนนั้น ๆ มีประจำเดือนออกมากหรือน้อยผิดปกติ หรือ ปวดท้องน้อยลักษณะนี้ในช่วงที่ไม่ได้มีประจำเดือน และมีระยะเวลาปวดนานผิดปกติ มากกว่าสัปดาห์ มากกว่าครึ่งเดือน หรือ รับประทานยาแก้ปวดเองแล้ว แต่อาการก็ไม่ดีขึ้น อีกทั้งยังมีอาการเหนื่อยง่าย คลื่นไส้ อาเจียน หรือ เป็นลมร่วมด้วย

  1. ปวดท้องน้อยเรื้อรัง (Chronic Pelvic Pain)

มักปวดท้องน้อยตลอดเวลา หรือ อาจจะปวดท้องน้อยเป็นช่วง ๆ เป็น ๆ หาย ๆ ไม่สม่ำเสมอ ไม่สามารถบอกล่วงหน้าได้ว่าจะเป็นเมื่อไร รับประทานยาแก้ปวดแล้วไม่ดีขึ้น และอาการปวดท้องน้อยเรื้อรังนี้มักเกิดขึ้นเป็นเวลาต่อเนื่องกันมากกว่า 3-6 เดือน ซึ่งเป็นภาวะที่พบได้บ่อยในผู้มีเพศกำเนิดหญิงในประเทศไทย โปรดตรวจสอบก่อนเสมอว่าคุณไม่ได้กำลังตั้งครรภ์ หากอยู่ในช่วงตั้งครรภ์จะต้องแจ้งให้แพทย์ผู้ดูแลทราบก่อนเสมอ

ทั้งนี้อาการปวดท้องน้อยทั้ง 3 ประเภทดังกล่าวมีความจำเป็นต้องพบแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเพื่อให้การวินิจฉัยที่ถูกต้องและตรงจุดต่อไป

ปรึกษาไม่ระบุตัวตนผ่าน Talk to PEACH

วิธีป้องกันการปวดท้องน้อยเบื้องต้น

ปวดท้องน้อยในผู้หญิง อย่าปล่อยไว้! เช็กอาการปวดท้องน้อยที่ต้องระวัง4

การปวดท้องน้อยในช่วงปวดประจำเดือนเป็นเรื่องปกติ เพียงแต่ต้องคอยระวังและสังเกตอาการปวดของตนเองอยู่เสมอเพื่อไม่ให้มีอาการปวดรุนแรงได้

  • ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ด้วยการออกกำลังกายสม่ำเสมอและออกกำลังกายในท่าทางที่ถูกต้องจะช่วยลดความเจ็บปวดหรืออาการปวดท้องน้อยได้
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และครบ 5 หมู่ พักผ่อนเพียงพอ นอนหลับให้เป็นเวลา และหมั่นผ่อนคลายความเครียดด้วยการฟังเพลง อ่านหนังสือ หรือใช้เวลากับสิ่งดี ๆ ที่เรารักที่เราชอบ เพื่อให้ประจำเดือนมาอย่างสม่ำเสมอ
  • ไม่ฝืนให้ตัวเองยกของหนัก ๆ
  • ไม่กลั้นอุจจาระ ไม่กลั้นปัสสาวะระหว่างวัน รวมถึงหากต้องใช้ห้องน้ำสาธารณะควรมีการเช็ดทำความสะอาดฝารองนั่งชักโครกก่อนนั่ง และไม่ควรใช้สายฉีดตามห้องน้ำสาธารณะ
  • มีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย ให้คู่ของคุณและคุณเองทำความสะอาดร่างกายก่อนมีเพศสัมพันธ์เสมอ ใช้ถุงยางอนามัย แผ่นยางอนามัย หรือถุงยางอนามัยนิ้วทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ทางปาก หรือช่องทางใด ๆ รวมถึงหลังมีเพศสัมพันธ์ผู้มีเพศกำเนิดหญิงควรมีการปัสสาวะหลังจากมีเพศสัมพันธ์ภายใน 30 นาทีเสมอ ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงต่อความผิดปกติต่าง ๆ ที่สาเหตุของอาการปวดท้องน้อยได้
  • ควรรับการตรวจภายในเป็นประจำทุกปีสำหรับผู้มีเพศกำเนิดหญิงที่เคยมีเพศสัมพันธ์ เคยใช้นิ้วมือ หรือ ใช้อุปกรณ์ใด ๆ สอดใส่ภายในอวัยวะเพศหญิง (Vagina) มาก่อน สำหรับกลุ่มที่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์หรือการสอดใส่ใด ๆ ควรตรวจภายในปีละครั้งเมื่ออายุมากกว่า 30 ปี หากตรวจติดต่อกัน 3 ปีแล้วไม่พบความผิดปกติก็สามารถตรวจเว้นปีได้
  • ฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก-เอชพีวี (HPV)

การรักษาอาการปวดท้องน้อย

ขึ้นอยู่กับลักษณะอาการ ภาวะ ประวัติความเป็นมาของแต่ละบุคคลที่แตกต่างกันออกไป โดยจำเป็นต้องให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญวินิจฉัยเท่านั้น ซึ่งการรักษาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้ดูแลของคุณ เช่น การให้ยา ยาเม็ด ยาทา หรือ ยาฉีด การผ่าตัด ผ่าตัดผ่านกล้อง หรือ การผ่าตัดเปิดหน้าท้อง และการทำกายภาพบำบัดด้วยวิธีต่าง ๆ เป็นต้น


ทั้งนี้การรักษาที่มีประสิทธิภาพสูงสุด คือ การรักษาที่คุณให้ความร่วมมือกับแพทย์ด้วย หมั่นสังเกตร่างกายของตนเอง จดจำรายละเอียดต่าง ๆ และบอกข้อมูลขณะปวดท้องได้อย่างชัดเจน ช่วยเพิ่มโอกาสให้แพทย์วินิจฉัยหาสาเหตุให้ตรงจุดตรงโรคมากยิ่งขึ้น

โดยส่วนมากจะมีอาการปวดท้องน้อยมักเกิดขึ้นด้านล่างตั้งแต่บริเวณใต้สะดือจนถึงหัวหน่าว หลายคนมักคิดว่าเป็นอาการปวดทั่วไปไม่ได้ใส่ใจ แต่จริง ๆ แล้วไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ อาการปวดท้องน้อยอาจเป็นสัญญาณอันตรายที่ร่างกายกำลังอยากบอกคุณ

อาการปวดท้องน้อย อย่าปล่อยไว้ ปรึกษาเบื้องต้นกับนักเพศวิทยาได้ทันที

Talk to PEACH Promo
ดาวน์โหลดแอป Talk to PEACH เพื่อปรึกษา

สามารถพูดคุยกับนักเพศวิทยาผู้เชี่ยวชาญ เพื่อแก้ปัญหาอย่างตรงจุดง่าย ๆ ผ่านวิดีโอคอล และแชทถาม-ตอบผ่านแอป Talk to PEACH หรือ หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องเพศ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Talk To PEACH: https://oci.ltd/ebUg8dI

อ้างอิง:

สุขภาพเพศทางกาย

สุขภาพเพศหญิง