30 กันยายน 2024
หลาย ๆ คนมักจะคุ้นหูหรือเคยรู้จักกับชื่อ “ช็อกโกแลตซีสต์” กันมาบ้าง เพราะเป็นหนึ่งในภัยเงียบที่มักเกิดกับคุณผู้หญิง รวมทั้งยังเป็นหนึ่งในโรคทางระบบสืบพันธุ์ ที่สร้างความทรมานกายและความกังวลใจให้ใครหลายคนไม่น้อย
.
บทความนี้ ชวนเช็กสัญญาณเสี่ยงของอาการช็อกโกแลตซีสต์ พร้อมวิธีรักษา และวิธีป้องกัน ที่สามารถนำไปสังเกตและดูแลตัวเองให้ไกลจากโรคนี้
ภาพจาก www.artfertilityclinics.com
ช็อกโกแลตซีสต์ (Chocolate Cyst) หรือ ในทางการแพทย์เรียกว่า ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis) คือ เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญเป็นถุงน้ำ หรือ ซีสต์ นั่นเอง
.
โดยถุงน้ำลักษณะนี้ เกิดจากผนังมดลูกที่ปกติจะลอกตัวและขับออกมาพร้อมกับประจำเดือน แต่หากประจำเดือนไหลออกมาไม่หมด หรือ มีการไหลย้อนกลับไปคั่งอยู่ที่บริเวณปีกมดลูก รังไข่ และอวัยวะอื่น ๆ ในอุ้งเชิงกราน เกิดเป็นถุงน้ำที่มีเลือดคั่งอยู่ จึงเรียกว่าเป็นถุงน้ำ หรือ ซีสต์ ที่มีสีเข้มเหมือนช็อกโกแลต
ช็อกโกแลตซีสต์แรกเริ่มนั้นจะยังไม่มีการแสดงอาการชัดเจน แต่มักจะมีอาการปวดท้องประจำเดือนหนักมาก เป็นการปวดที่มีแนวโน้มมาขึ้นเรื่อย ๆ ในทุก ๆ ครั้งที่เป็นประจำเดือน เนื่องจากมดลูกพยายามบีบตัวขับเลือดและถุงน้ำออก ผลที่ตามมาก็คือ อาการปวดหน่วงอย่างมาก นั่นเอง
.
นอกจากนี้ ยังมีเลือดประจำเดือนไหลออกมากะปริบกะปรอยทางช่องคลอด หรือ บางครั้งก็มีเลือดออกมามากเกินกว่าปกติ
.
หากมีอาการเหล่านี้ให้เริ่มสงสัยตัวเองไว้ก่อนว่า อาจจะเสี่ยงเป็นช็อกโกแลตซีสต์ โดยเมื่อมีอาการเหล่านี้เกิดขึ้นแล้ว ควรไปอย่างละเอียดกับแพทย์เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุต่อไป
อาการที่ยืนยันแน่นอนว่าเป็นช็อกโกแลตซีสต์ มักจะมาพร้อมกับการปวดหน่วงท้องน้อย ปวดท้องประจำเดือน ปวดร้าวไปทั้งอุ้งเชิงกราน ปัสสาวะบ่อย เพราะถุงน้ำจะไปกดเบียดและกระตุ้นกระเพาะปัสสาวะ
.
นอกจากนี้แล้ว ยังมีประจำเดือนบ่อยและถี่กว่าปกติ โดยมีระยะของรอบการมีประจำเดือนห่างกันน้อยมาก เช่น ในเดือนหนึ่งเป็นเมนส์มากกว่าสองครั้ง
.
บางรายอาจมีถ่ายอุจจาระและปัสสาวะปนเลือดออกมาได้ในช่วงเป็นประจำเดือน นอกจากนั้นอาจจะคล้ำได้ก้อนแข็งบริเวณหน้าท้อง เนื่องจากถุงน้ำ หรือ ซีสต์ ขยายตัวใหญ่ขึ้น อาจขยายใหญ่ได้มากถึงขั้นเป็นช็อกโกแลตซีส 5 เซนติเมตร หรือมากกว่านั้นได้เลย ซึ่งหากปล่อยไว้ก็จะเจ็บปวดและเสี่ยงที่ก้อนซีสต์จะแตกสร้างความเสียหายให้กับอวัยวะในอุ้งเชิงกรานอื่น ๆ ได้
เนื่องจากอาการของช็อกโกแลตซีสต์หลัก ๆ เลยก็คือ อาการปวดท้อง บางคนที่ไม่รู้ตัวเองก็จะคิดว่าเป็นการปวดท้องประจำเดือนทั่วไป จะมารู้ตัวเองอีกทีก็ตอนที่ก้อนซีสต์ขยายตัวและแตกภายในช่องท้อง ซึ่งจะต้องได้รับการผ่าตัดแบบฉุกเฉินเท่านั้น ไม่เช่นนั้นอาจทำให้เลือดออกในช่องท้องและเสี่ยงเป็นอันตรายต่อชีวิตได้
.
โดยการเป็นช็อกโกแลตซีสต์นั้นยังเสี่ยงทำให้เกิดภาวะมีบุตรยากด้วย เพราะซีสต์หรือถุงน้ำจะก่อให้เกิดพังผืดในท่อนำไข่ ทำให้ท่อนำไข่ตีบตันจนไม่สามารถนำไข่และอสุจิให้มาปฏิสนธิกันได้
โอกาสที่ช็อกโกแลตซีสต์จะพัฒนาไปเป็นมะเร็งนั้นน้อยมาก พบเพียง 1-2 % แต่การเป็นช็อกโกแลตซีสต์เพิ่มความเสี่ยงการเกิดมะเร็งรังไข่ ชนิดเยื่อบุผิว (Endothelial Ovarian Cancer) ได้มากขึ้น 2-3 เท่าของคนปกติ ทั้งนี้ ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น มีประวัติว่าคนในครอบครัวเป็นมะเร็ง
สำหรับกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสเป็นช็อกโกแลตซีสต์สูงนั้นจะมีความสัมพันธ์กับการมีประจําเดือน โดยคนที่เป็นประจำเดือนเร็วกว่าวัยเดียวกัน หรือ เข้าสู่วัยหมดประจำเดือนช้า กลุ่มนี้มักจะมีความเสี่ยงที่ประจำเดือนจะไหลย้อนกลับแล้วกลายเป็นช็อกโกแลตซีสต์ได้
.
อีกหนึ่งปัจจัยคือ กรรมพันธุ์ สำหรับผู้หญิงที่ในครอบครัวมีแม่ พี่สาว หรือ น้องสาว เป็นโรคนี้ก็จะยิ่งมีความเสี่ยงที่ตัวเองจะเป็นสูง รวมไปถึงอาหารการกิน การดื่มแอลกอฮอล์และกาแฟมาก ๆ ก็มีความเสี่ยงที่เยื่อบุโพรงมดลูกจะเจริญผิดปกติกลายเป็นช็อกโกแลตซีสต์ได้
ช็อกโกแลตซีสต์ไม่สามารถหายขาดเองได้ จำเป็นจะต้องพบแพทย์เพื่อเข้าสู่กระบวนการรักษาตามอาการและความรุนแรงของโรค
ถ้าหากเป็นช็อกโกแลตซีสต์ในระยะแรกเริ่มที่ยังไม่มีการอุดตันของท่อนำไข่ก็ยังสามารถตั้งครรภ์มีลูกได้ แต่ทั้งนี้แพทย์จะแนะนำให้รักษาซีสต์ให้หายก่อนเพื่อลดโอกาสที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนในระหว่างการตั้งครรภ์ แต่หากเป็นรุนแรงอาจทำให้ไม่สามารถตั้งครรภ์ด้วยวิธีธรรมชาติได้จะต้องใช้การผสมเทียมหรือเทคโนโลยีในการผสมเด็กหลอดแก้วช่วย
การรักษาช็อกโกแลตซีสต์มี 2 วิธี
การรักษาด้วยยาส่วนใหญ่จะเป็นฮอร์โมน เพื่อกดการทำงานของรังไข่ ทำให้ซีสต์ หรือ รอยโรคฝ่อตัวลงได้ ซึ่งยาที่ใช้รักษาก็มีทั้งแบบกินและแบบฉีดขึ้นอยู่กับการประเมินและวางแผนการรักษาของแพทย์
หากรักษาด้วยการใช้ยาแล้วไม่มีแนวโน้มว่าช็อกโกแลตซีสต์จะยุบตัวลงก็จำเป็นจะต้องพิจารณารักษาด้วยการผ่าตัดร่วมด้วย ซึ่งมีทั้งวิธีการผ่าตัดเปิดหน้าท้องและวิธีการผ่าตัดแบบส่องกล้อง โดยหลังการผ่าตัดยังต้องกินยาฮอร์โมนต่อเนื่อง เพราะหากไม่ได้รับการรักษาด้วยยาฮอร์โมนต่อมีโอกาสที่รอยโรคจะกลับมาเป็นซ้ำ
.
ดังนั้น คนที่ต้องการตั้งครรภ์ควรวางแผนตั้งครรภ์อยู่ในช่วง 1 ปีแรกภายหลังการผ่าตัด ก่อนจะกลับมากินยาฮอร์โมนต่อเพื่อป้องกันการกลับมาเป็นช็อกโกแลตซีสต์ซ้ำ
ช็อกโกแลตซีสต์เป็นภาวะความผิดปกติที่เกิดขึ้นได้กับผู้หญิงทุกคน ทางที่ดีที่สุดคือต้องหมั่นสำรวจตัวเอง และเข้ารับการตรวจภายในอยู่เป็นประจำ เพื่อตรวจสุขภาวะระบบสืบพันธุ์ป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดโรคต่าง ๆ ได้อย่างทันท่วงที
.
สุขภาวะทางเพศเป็นเรื่องส่วนบุคคลที่ละเอียดอ่อนมา แต่ละคนก็มีปัญหาที่แตกต่างกันไป สามารถปรึกษาโรคทางเพศกับเราได้ในทุก ๆ แง่มุม ไม่ต้องเปิดเผยชื่อ ไม่ต้องเปิดเผยตัวตน สามารถรับคำปรึกษาได้ทันที หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องเพศ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Talk to PEACH: https://oci.ltd/s4knQrE
อ้างอิง:
ปัญหาเพศหญิง