27 กันยายน 2024
ถุงยางอนามัยเป็นตัวช่วยคุมกำเนิดและป้องกันการติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยเลยที่มีอาการแพ้ถุงยางอนามัยทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย
.
บทความนี้ Talk to PEACH อยากจะพาไปทำความเข้าใจถึงอาการแพ้ถุงยางอนามัยกันว่า มีสาเหตุมาจากอะไร แล้วเราจะป้องกันไม่ให้เกิดอาการแพ้นี้ได้อย่างไร มาไขคำตอบทั้งหมดนี้ไปพร้อมกันได้เลย
เหตุผลที่เกิดอาการแพ้ถุงยางอนามัยนั้นหลัก ๆ แล้วมาจาก 2 สาเหตุ ได้แก่
สารหล่อลื่นที่บรรจุมาพร้อมในซองถุงยางอนามัยนั้น อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการแพ้ขึ้นมาได้ ซึ่งความรุนแรงก็ขึ้นอยู่กับชนิดของสารหล่อลื่น และความไวของร่างกายเราที่ตอบสนองต่อสารหล่อลื่นนั้น
.
นอกจากสารหล่อลื่นแล้วถุงยางอนามัยบางชนิดก็จะมีการใส่สารฆ่าเชื้ออสุจิ (Spermicide) เข้ามาด้วย ซึ่งเจ้าสารตัวนี้ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการแพ้ถุงยางอนามัยได้เช่นกัน
ถุงยางอนามัยในท้องตลาดส่วนใหญ่กว่า 80% นั้นผลิตขึ้นมาจากน้ำยางพาราธรรมชาติ ซึ่งแน่นอนว่ามีคนที่แพ้ยางพาราอยู่ จึงมีโอกาสที่จะพบคนที่แพ้ยางพาราได้มากถึง 1-3% ได้เลย โดยอาการแพ้ยางพารานี้ก็จะทำให้เกิดอาการอักเสบ แสบคัน ขึ้นบริเวณผิวหนังที่สัมผัสกับยางพารา อาการมักจะปรากฏหลังจากสัมผัสกับยางพาราไปแล้ว 24-48 ชั่วโมง
อาการแพ้ถุงยางอนามัยที่พบได้บ่อย ก็จะเป็นลักษณะของการมีผดผื่นคันคล้ายผื่นลมพิษ บางรายก็จะมีอาการแสบร้อนและคันบริเวณที่เป็นผื่นนั้น โดยอาการแพ้ถุงยางอนามัยนั้นสามารถเกิดขึ้นได้กับทั้งผู้ชายและผู้หญิง
.
แต่อาการในผู้หญิงจะมีอาการรุนแรงมากกว่า คล้ายกับลักษณะของการแพ้ผ้าอนามัย เพราะด้วยสรีระร่างกายของอวัยวะเพศหญิงนั้นค่อนข้างซับซ้อน มองไม่เห็นจากภายนอก ต่างจากอวัยวะเพศของผู้ชายที่มองเห็นและทำความสะอาดได้ง่าย อาการแสดงเมื่อแพ้ถุงยางอนามัยจึงน้อยกว่า ความรุนแรงน้อยกว่า
อย่างที่กล่าวไปว่าอวัยวะเพศของผู้หญิงนั้นมีความซับซ้อน อีกทั้งส่วนที่สัมผัสกับผิวของถุงยางอนามัยยังเป็นส่วนที่อยู่ลึกเข้าไปข้างในช่องคลอด ทำให้อาการแพ้ถุงยางอนามัยของผู้หญิงมีความซับซ้อนมากกว่าการแพ้แบบผดผื่นคัน เพราะจะมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย อาการแรกเลยที่มักมาพร้อมกับการแพ้ถุงยางก็คือ มีอาการตกขาว
.
ลักษณะตกขาวจากการแพ้ถุงยาง ตกขาวจะมีกลิ่นผิดปกติ บางทีอาจจะมีสีคล้ำปนออกมาด้วย เพราะโดยปกติแล้วตกขาวนั้นจะเกิดมาจากติดเชื้อในช่องคลอด หรือมีสิ่งแปลกปนอยู่ในช่องคลอด เป็นไปได้ที่เมื่อสารหล่อลื่นหรือยางพาราจากถุงยางที่เข้าไปเสียดสีสร้างความระคายเคืองในช่องคลอดจะทำให้ช่องคลอดสร้างเมือกออกมาให้ความชุ่มชื้นและขับสิ่งแปลกปลอมนั้นเกิดเป็นตกขาวออกมา เมื่อเราแพ้ถุงยางอนามัย ตกขาวมีกลิ่นก็อาจจะเกิดขึ้นมาได้ ซึ่งหากมีอาการบวมแดง หรือตกขาวหนักมีอาการไม่ดีขึ้นจำเป็นจะต้องไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาโดยด่วน
อย่างที่กล่าวไปว่าอาการแพ้ถุงยางอนามัยนั้นจะเกิดขึ้นภายใน 24-48 ชั่วโมง หรือบางรายก็เร็วกว่านั้น โดยส่วนใหญ่อาการแพ้ถุงยางอนามัยสามารถหายได้เองภายใน 1-2 วัน ขึ้นอยู่กับความรุนแรงในการแพ้ หากแพ้ไม่รุนแรงมากแค่ล้างทำความสะอาดเอาสารก่อการแพ้ออก หรือกินยาแก้แพ้ก็จะพอช่วยให้อาการดีขึ้นมาได้
.
แต่หากมีอาการแพ้รุนแรงที่นอกจากจำคันบริเวณอวัยวะเพศแล้วยังพบอาการผิดปกติที่ระบบอื่น ๆ เช่น หายใจติดขัด คอบวม ปากบวม ตาแฉะตาแดง หรือมีภาวะความดันต่ำ วิงเวียน คลื่นไส้ อาเจียน อาจจะต้องรีบนำตัวส่งโรงพยาบาล เพราะถือเป็นอาการแพ้ที่ค่อนข้างรุนแรงและเสี่ยงต่อชีวิต
การแพ้ถุงยางอนามัยไม่ได้มีวิธีการรักษาเฉพาะ ส่วนใหญ่ถ้าไม่รุนแรงจะหายได้เอง แต่ก็มักจะรักษาตามอาการด้วยการกินยาแก้แพ้ หรือหากคัดมาก ๆ ก็จะใช้ยาทาแก้คันร่วมด้วย หรือในบางรายโดยเฉพาะผู้หญิงที่แผลหนักมากถึงขั้นที่มีการอักเสบติดเชื้อก็อาจจะมีการพิจารณาใช้ยาสอดร่วมด้วย
สาเหตุหลัก ๆ ของการแพ้ถุงยางอนามัยอย่างที่กล่าวไปตอนแรกว่าเกิดมาจากสารที่บรรจุมาพร้อมกับถุงยางและเกิดจากการแพ้ยางพารา วิธีการป้องกันการแพ้ก็คือต้องหาให้เจอว่าเราแพ้อะไร หากเราแพ้สารที่บรรจุมาพร้อมกับถุงยางอย่างสารหล่อลื่นหรือสารฆ่าอสุจิเวลาเลือกถุงยางก็อ่านฉลากเลือกที่ปราศจากสารเหล่านี้ก็จะช่วยลดอาการแพ้ลงได้
.
แต่ถ้าหากเราแพ้ยางพาราอันนี้ก็ต้องพิจารณาเลือกใช้ถุงยางอนามัยที่ไม่ได้ทำมาจากยางพาราแต่ใช้วัสดุอื่น ๆ เช่น ถุงยางอนามัยจากโพลียูรีเธน (Polyurethane: PU) และถุงยางอนามัยที่ผลิตจากโพลีไอโซพรีน (Polyisoprene) ซึ่งเป็นพลาสติก มีความเหนียวและทนทานมากกว่าถุงยางจากยางพารา ทำให้มีราคาที่ค่อนข้างสูง
.
หากลองทำทุกวิถีทางแล้วยังมีการแพ้ถุงยางอนามัยอยู่ก็อาจจะต้องพิจารณาเลือกใช้วิธีการคุมกำเนิดในรูปแบบอื่น ๆ แทนการใช้ถุงยางอนามัย แต่ความเสี่ยงในเรื่องโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ก็จะสูงขึ้น
สามารถปรึกษาอาการแพ้ถุงยางอนามัย หรือ โรคทางเพศกับเราได้ในทุก ๆ แง่มุม ไม่ต้องเปิดเผยชื่อ ไม่ต้องเปิดเผยตัวตน สามารถรับคำปรึกษาได้ทันที หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องเพศ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Talk to PEACH: https://oci.ltd/tG3UMRa
อ้างอิง:
สุขภาพเพศทางกาย