13 มีนาคม 2023
อาการประจำเดือนมาไม่ปกติ มักสร้างความกังวลใจให้กับสาว ๆ หลายคน และถือเป็นหนึ่งในอาการที่ไม่ควรละเลยอย่างยิ่ง เนื่องจากประจำเดือนเป็นหนึ่งในสิ่งที่สามารถบอกถึงสุขภาพของระบบสืบพันธุ์และร่างกายของเราได้ โดยปกติผู้หญิงจะมีประจำเดือนทุก ๆ 21 – 35 วัน และในแต่ละครั้งประจำเดือนจะมาราว 3 – 5 วัน แต่ไม่ควรเกิน 7 วัน
.
หากสาว ๆ ท่านไหนที่จดบันทึกประจำเดือนไว้ แล้วพบว่าประจำเดือนขาด มาไม่ปกติ ประจําเดือนไม่มา 1 เดือนแล้ว หรือมีระยะห่างของประจำเดือนมากกว่าปกติ หรือมีสีของประจำเดือนเปลี่ยนไป เช่น เลือดประจำเดือนสีน้ำตาล มีตกขาว อาจเป็นสัญญาณเริ่มต้นของประจำเดือนที่มาผิดปกติ หรือบ่งบอกถึงโรคบางอย่างได้
แต่อย่าเพิ่งกังวลไป ‘Talk to PEACH’ ขอชวนสาว ๆ ที่สงสัยว่ากำลังมีอาการประจำเดือนมาไม่ปกติ หรือมีลักษณะของประจำเดือนที่ผิดแปลกไปจากเดิม มาไขข้อสงสัยและหาคำตอบไปด้วยกันผ่านบทความนี้
หากสาว ๆ สังเกตตัวเองเป็นเวลาครบ 1 เดือน แล้วพบว่ามีอาการประจำเดือนขาดไป สาเหตุอาจเกิดจากภาวะประจำเดือนมาช้ากว่าปกติ ซึ่งอาจเกิดได้จากความเครียดสะสม หรือพฤติกรรมการใช้ชีวิตเปลี่ยนแปลงไป เช่น การรับประทานอาหารปริมาณน้อยลง ออกกำลังกายมากเกินไป
.
อย่างไรก็ตามหากมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น มีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน หรือหลังจากประจำเดือนขาดไป มีประจำเดือนมามากกว่าปกติหรือนานกว่า 7 วัน แนะนำให้จดบันทึกอาการดังกล่าวไว้ และพบแพทย์เพื่อขอคำปรึกษา
อาการประจำเดือนไม่มาหลังจากการมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ได้ป้องกันหรือคุมกำเนิด อาจทำให้เกิดความสงสัยได้ว่ากำลังจะตั้งครรภ์หรือไม่ แต่เนื่องจากการมีประจำเดือนของผู้หญิงแต่ละคนมีความต่างกันออกไป จึงไม่สามารถสรุปได้แน่ชัดว่า ประจำเดือนไม่มากี่เดือน จึงนับว่าตั้งครรภ์
.
เราจึงแนะนำให้สาว ๆ สังเกตจากกำหนดการมีรอบเดือนตามปกติ หากประจำเดือนไม่มาตามกำหนดเดิม ทั้ง ๆ ที่ปกติแล้วมีประจำเดือนสม่ำเสมอ หรือพ้นไปจากวันที่รอบเดือนควรจะมาไปแล้ว 2-3 วัน ช้าที่สุดประมาณ 7 วัน แล้วถ้าประจำเดือนก็ยังไม่มา ให้สงสัยไว้ก่อนเลยว่าอาจมีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น โดยอาจสังเกตอาการอื่นๆ ที่บ่งบอกว่ากำลังตั้งครรภ์ร่วมด้วย เช่น คลื่นไส้และอาเจียน คัดตึงเต้านม ปัสสาวะบ่อย ท้องผูก อารมณ์แปรปรวน
ทั้งนี้ แนะนำให้ตรวจครรภ์ด้วยตัวเอง ด้วยชุดทดสอบการตั้งครรภ์ที่มีวางจำหน่ายทั่วไป ซึ่งเป็นการทดสอบหาฮอร์โมน HCG ที่หลั่งออกมาหลังจากปฏิสนธิไปแล้ว 6 วัน และในช่วง 8-12 สัปดาห์ หลังการมีเพศสัมพันธ์ โดยมีความแม่นยำของการตรวจมากถึง 90 เปอร์เซ็นต์
.
บทความที่เกี่ยวข้อง
.
สำหรับยาที่สามารถช่วยให้ประจำเดือนมาปกติได้นั้น คือยาปรับฮอร์โมน แต่การรับประทานยาเพื่อรักษาอาการประจำเดือนมาไม่ปกติ ควรได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์และอยู่ในความดูแลของแพทย์เท่านั้น
.
นอกจากการรักษาด้วยการรับประทานยาแล้ว ในบางคนอาจใช้การปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต เพื่อแก้ไขปัญหาประจำเดือนมาไม่ปกติ เช่น ออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอควบคู่ไปกับสร้างกล้ามเนื้อ รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่มากไป ไม่น้อยไป และไม่อดอาหาร พร้อมทำใจให้สบาย ไม่เครียด นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เข้านอนและตื่นให้เป็นเวลา
การบันทึกและคำนวณรอบเดือน ด้วย Period Tracker จะช่วยให้สาว ๆ รู้เท่าทันความผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับประจำเดือนได้อย่างทันท่วงที ลองใช้ Period Tracker ได้แล้ววันนี้ ฟรี! ที่แอปฯ Talk to PEACH
อ้างอิง:
ปัญหาเพศหญิง
สุขภาพเพศทางกาย