องคชาตเป็นตุ่มแบบไหน บอกโรคอะไรบ้าง? พร้อมบอกวิธีรักษาและป้องกัน

องคชาตเป็นตุ่มแบบไหน บอกโรคอะไรบ้าง? พร้อมบอกวิธีรักษาและป้องกัน

03 ตุลาคม 2023

Share on

หากมีตุ่มที่องคชาต ไม่ว่าจะเป็นตุ่มธรรมดาแบบไม่เจ็บไม่คัน เป็นจุดแดง จุดขาว ตุ่มคัน เจ็บ แสบ ตุ่มน้ำใส ติ่งเนื้อ หรือตุ่มในลักษณะต่าง ๆ คงสร้างความกังวลใจอยู่ไม่น้อย 

ในบทความนี้ ชวนมาเช็กเบื้องต้นว่าองคชาตเป็นตุ่มแบบไหน เป็นสัญญาณของโรคอะไร และมีแนวทางป้องกันและรักษาอย่างไรบ้าง

เผย 7 ลักษณะตุ่มบริเวณองคชาตส่อโรค ที่ไม่ควรมองข้าม

แน่นอนว่าอาการตุ่มขึ้นองคชาตนั้นมีหลากหลายรูปแบบ และเกิดจากสาเหตุที่แตกต่างกันไป สำหรับหนุ่ม ๆ ที่กำลังกลุ้มใจ มาเช็กกันดีกว่าว่าตุ่มแบบไหนบอกโรคอะไรบ้าง

1. มีตุ่มขึ้นองคชาต แต่ไม่เจ็บและไม่คัน

หากองคชาตเป็นตุ่มแต่ไม่เจ็บและไม่คัน อาจเกิดขึ้นโดยธรรมชาติหรือจากการมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งส่วนใหญ่หากเกิดตามธรรมชาติมักไม่มีผลกระทบต่อร่างกาย

อย่าง ผื่นนูน PPP: Pearly Penile Papules ไม่จัดเป็นโรค แต่เกิดขึ้นเองจากการขยายตัวของหลอดเลือดภายในองคชาตและมีเนื้อเยื่อมาพันรอบ จึงเห็นเป็นตุ่มนูนผิวเรียบเรียงกันเป็นแถว มีสีเนื้อหรือสีชมพูอ่อน ขึ้นบริเวณฐานอวัยวะเพศ ซึ่งไม่จำเป็นต้องรักษา

อย่างไรก็ตาม หากเป็นตุ่มที่ติดต่อจากการมีเพศสัมพันธ์อาจเป็น หูดข้าวสุก ที่ไม่มีอาการเจ็บหรือคัน แต่เป็นตุ่มนูนสีเหลือง เงาคล้ายไข่มุก ซึ่งตรงกลางจะมีรอยบุ๋ม หากบีบจะแตกออกมาเป็นสีข้าวสุก โดยสามารถหายเองได้ภายใน 2-12 เดือน 

ส่วน หูดหงอนไก่ มักเกิดจากการติดเชื้อไวรัส HPV  มีลักษณะเป็นติ่งเนื้อสีน้ำตาลหรือชมพู ผิวอาจเรียบหรือขรุขระ สำหรับการป้องกันคือใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ แต่หากแพทย์วินิจฉัยว่าติดเชื้อ จำเป็นต้องรักษาด้วยการรับประทานยา หรือใช้การจี้ไฟฟ้าร่วมด้วย

2. ปลายองคชาตมีจุดแดง

หากปลายองคชาตมีจุดแดงขึ้น แต่ไม่เจ็บและไม่คัน อาจเป็นจุดแผลขนาดเล็กที่เกิดจากการถลอก ซึ่งสามารถเกิดได้จากการใส่เสื้อผ้าที่รัดแน่นหรือการมีเพศสัมพันธ์ที่รุนแรงเกิดไป 

ดังนั้น อาจงดกิจกรรมบนเตียงชั่วคราว สวมใส่กางเกงในที่ไม่รัดจนเกินไปและระบายอากาศได้ดี และให้ใช้น้ำสะอาดล้างอวัยวะเพศ แนะนำว่าควรไปพบแพทย์ทันทีหากมีอาการเจ็บหรือแสบขณะปัสสาวะร่วมด้วย

3. มีจุดขาว คล้ายสิวขึ้นที่องคชาต

ตุ่มที่องคชาตลักษณะคล้ายสิว มีสีขาว หากไม่เจ็บไม่คัน อาจเกิดจาก ‘Fordyce Spot’ หรือ ต่อมไขมัน ซึ่งไม่จัดเป็นโรค ตัวตุ่มนูนสีขาวหรือสีเหลืองอ่อน พบได้ทั้งบริเวณผิวของถุงอัณฑะและองคชาต

นอกจากนี้ตุ่มคล้ายสิวบริเวณอวัยวะเพศชายอาจเกิดจาก ‘รูขุมขนอักเสบ’ สามารถสังเกตได้จากลักษณะตุ่มสีแดง มีหนองสีขาวอยู่ภายใน สามารถป้องกันได้ด้วยการสวมใส่เสื้อผ้าไม่รัดแน่น ไม่ใช้เสื้อผ้าร่วมกับผู้อื่น ซึ่งอาการนี้สามารถหายได้เองใน 2-3 สัปดาห์ 

หากเกิดจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อาจเป็น หูดข้าวสุก ผื่นนูน PPP หรือ เริม ที่มีลักษณะตุ่มใส หรือตุ่มหนองที่แตกออกแล้วเป็นสะเก็ดแผล เกิดขึ้นเมื่อมีเพศสัมพันธ์หรือใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้ที่ติดเชื้อ ซึ่งมีอาการแสบ คัน และปวดด้วย 

ดังนั้น ทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์จึงควรสวมใส่ถุงยางอนามัย ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น หากติดโรคแล้วต้องเข้ารับการรักษาจากแพทย์ โดยปกติจะดีขึ้นภายใน 2-6 สัปดาห์

ปรึกษาไม่ระบุตัวตนผ่าน Talk to PEACH

4. มีตุ่มขึ้นที่องคชาต รู้สึกคัน เจ็บ แสบ

อาการตุ่มขึ้นที่องคชาตแล้วมีอาการคัน เจ็บ แสบ ด้วย สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น เริมที่อวัยวะเพศ ซิฟิลิส ผื่นแพ้สัมผัส และหนองใน

หากเป็นผื่นแพ้สัมผัส มีต้นตอมาจากการสัมผัสเคมีที่แพ้ เช่น ถุงยางอนามัย ผงซักฟอก แป้ง และโลชัน สังเกตอาการได้จากผื่นแดงหรือตุ่มน้ำที่คัน ดังนั้น จึงต้องหยุดใช้เคมีภัณฑ์และพบแพทย์หากอาการไม่ดีขึ้น

หากติดต่อจากโรคทางเพศสัมพันธ์ อาจเป็นโรคซิฟิลิส(Syphilis) ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกันอย่างถูกวิธี การรับเลือด การสัมผัส การจูบ หรือโรคติดต่อจากแม่สู่ลูก โดยระยะเริ่มแรกจะมีตุ่มเล็ก ๆ ขึ้น เมื่อแตกออกจะมีน้ำเหลือง จากนั้นทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ 

ดังนั้น ต้องพบแพทย์ทันทีหากมีอาการเข้าข่ายอาการดังกล่าว โดยการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะสามารถหายขาดจากโรคนี้ได้

อีกหนึ่งโรคที่ไม่ควรมองข้าม คือ หนองใน (Gonorrhea) ที่เกิดจากเชื้อ Neisseria Gonorrhoeae ติดต่อได้จากการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกันอย่างถูกวิธี ซึ่งอาจมีอาการหนองไหลออกจากปลายอวัยวะเพศ หรือเจ็บแสบขณะปัสสาวะ สามารถรักษาด้วยยาปฏิชีวนะและงดการมีเพศสัมพันธ์ชั่วคราว

5. มีตุ่มน้ำใสขึ้นที่องคชาต

สำหรับตุ่มน้ำใส มักเกิดจากโรคเริมที่อวัยวะเพศ (Genital Herpes) ซึ่งอาจรู้สึกแสบร้อน คัน เจ็บขณะปัสสาวะ เป็นแผลพุพองและเลือดออกร่วมด้วย 

สามารถป้องกันโรคเริมได้ด้วยการใช้ถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์ หรือหลีกเลี่ยงการร่วมรักหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีความเสี่ยง รวมถึงให้หลีกเลี่ยงการใช้เซ็กซ์ทอยร่วมกับผู้อื่นด้วย

หากเป็นโรคเริมแล้วควรไปพบแพทย์เพื่อรักษาให้เร็วที่สุด โดยทั่วไปจะใช้ยาต้านไวรัสและยาทาแก้ปวดในบางกรณี อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันโรคนี้ยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ สามารถกลับมาเป็นซ้ำได้เมื่อภูมิคุ้มกันในร่างกายลดลง 

6. มีติ่งเนื้อขึ้นที่องคชาต

หากมีติ่งเนื้อขึ้นที่องคชาต สามารถสันนิษฐานหนึ่งในต้นตอได้ว่าเป็น ‘หูดหงอนไก่’ (Genital Warts) โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เมื่อรับเชื้อ HPV จะทำให้เกิดหูดหรือติ่งเนื้อ รูปร่างคล้ายหงอนไก่ขึ้น พร้อมกับอาการแสบร้อน คัน 

ทั้งนี้สามารถป้องกันได้โดยการฉีด HPV Vaccine ส่วนวิธีการรักษาก็มีหลากหลายตั้งแต่การทายา ผ่าตัดชิ้นเนื้อ จี้ร้อน-เย็น และการรักษาด้วยเลเซอร์

7. มีตุ่มเล็ก ๆ มีน้ำเหลืองขึ้นที่องคชาต

สำหรับตุ่มเล็กมีน้ำเหลืองเกิดขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ อาจเกิดจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อย่าง  ซิฟิลิส เริมที่อวัยวะเพศ หรือการแพ้สัมผัสที่มีอาการคันร่วมด้วย 

อย่างไรก็ตามหากอาการรุนแรงขึ้น มีอาการปวด บวม มีไข้ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจเพิ่มเติมทันที และรับประทานยาตามแพทย์สั่ง

องคชาตเป็นตุ่ม หรือมีอาการผิดปกติที่องคชาต  พูดคุยกับTalk to PEACH เพื่อหาแนวทางรักษาอย่างปลอดภัย

Talk to PEACH Promo
ดาวน์โหลดแอป Talk to PEACH เพื่อปรึกษา

สามารถพูดคุยได้ทั้งผ่านวิดีโอคอล และแชทถาม-ตอบผ่านแอป Talk to PEACH หรือ หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องเพศ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Talk To PEACH: https://bit.ly/3PXqoLc 

บทความที่เกี่ยวข้อง

อ้างอิง

ปัญหาเพศชาย

สุขภาพเพศทางกาย